บทความ

พวงมาลัยรถสั่น เกิดจากอะไร? แล้วจะอันตรายมั้ย

รู้หน่อย พวงมาลัยสั่น เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง ?

1. จานเบรกมีปัญหา

อาจเกิดจากการที่เบรกรถยนต์คดหรือผิดรูป จากการขับรถลุยน้ำ, เหยียบเบรกกะทันหัน ตลอดจนการเหยียบเบรกอย่างต่อเนื่อง หากปล่อยไว้ไม่รีบซ่อมให้กลับมาเป็นปกติดังเดิม อาจทำให้รถเกิดอาการส่ายขณะเบรก, เบรกไม่อยู่ และควบคุมรถไม่ได้

2. ความผิดปกติที่ล้อรถยนต์

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวงมาลัยสั่น คือ ชิ้นส่วนของล้อรถยนต์เสื่อมสภาพ ไม่ว่าจะเป็นลูกปืนล้อหลวม แตก หรือจาระบีเสื่อมสภาพ ไปจนถึงล้อแม็กผิดรูปจนทำให้ยางบิดเบี้ยว นอกจากนี้ยังรวมถึงปลอกดุมล้อและดุมล้อเสื่อมสภาพด้วยเช่นกัน

3. พวงมาลัยไม่ตรง

หากแกนพวงมาลัยเริ่มสึกหรอเนื่องจากการใช้งาน จะส่งผลให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถตั้งพวงมาลัยให้ตรงได้ จึงเกิดอาการพวงมาลัยรถสั่นได้เช่นกัน แนะนำให้นำรถยนต์ไปตรวจสภาพแกนหรือการทำงานของพวงมาลัยทันที เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้รถส่ายจนเกิดอุบัติเหตุตามมาได้

4. การตั้งศูนย์รถที่ไม่เหมาะสม

บอกไว้ตรงนี้เลยว่าการตั้งศูนย์รถ เป็นหนึ่งในวิธีการตั้งค่าระบบป้องกันการสั่นสะเทือนของรถยนต์ ซึ่งรวมไปถึงการตั้งศูนย์ถ่วงล้อด้วยเช่นกัน หากมีการตั้งค่าที่ไม่สมดุล เอียงซ้ายหรือขวา หรือทางตรงแล้วมีอาการเอียงไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ย่อมมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือนได้เช่นกัน

5. ยางรถเสื่อมสภาพ

หลายคนมักเข้าใจว่าการที่ยางรถยนต์เสื่อมสภาพ มักส่งผลต่อการเบรกและการทำความเร็วของรถอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยางรถที่เสื่อมสภาพ หน้ายางบวมจากความร้อนและการใช้งาน ไปจนถึงผิวยางที่ขรุขระ ก็ทำให้พวงมาลัยสั่นได้เช่นกัน โดยปกติจะเกิดขึ้นในช่วงความเร็วต่ำกว่า 80 หรือสูงถึง 120

6. พวงมาลัยหนัก
อาการพวงมาลัยหนักเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ยางอ่อน, ปั๊มพวงมาลัยพาวเวอร์รั่ว และความผิดปกติในส่วนขับเคลื่อนรถยนต์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปีกนก และลูกหมากที่สารหล่อลื่นไม่เพียงพอ

อาการพวงมาลัยสั่นและสะเทือน แก้ไขยังไง ?

เมื่อได้รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้รถมีปัญหา พวงมาลัยสั่นแล้ว ประกอบกับรู้ว่าจะต้องแก้ไขโดยด่วน เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถ แต่จะแก้ไขได้ด้วยวิธีไหนบ้าง ตามไปดูกันเลย

1. ใช้ปลอกกันสั่น เมื่อเปลี่ยนล้อใหม่และดุมล้อไม่เท่ากัน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้พวงมาลัยสั่นได้เช่นกัน จึงจำเป็นต้องใส่ปลอกกันสั่นที่มีคุณภาพ เพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

2. เปลี่ยนจานเบรกใหม่ ถ้าจานเบรกคดเนื่องจากผิวจานเบรกไม่สม่ำเสมอ และมีการสึกหรอเกิดขึ้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการเจียรหน้าสัมผัสของจานเบรกให้เรียบเสมอกัน แต่ถ้าอาการพวงมาลัยสั่นยังไม่หายไป ต้องเปลี่ยนจานเบรกใหม่ทั้งชุด

3. ถ่วงล้อให้สมดุล กรณีที่ถ่วงล้อไม่สมดุล สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการถ่วงล้อใหม่ เพื่อปรับความสมดุลให้เท่ากันทั้ง 2 ข้าง

4. เปลี่ยนลูกปืนล้อใหม่ การแก้ไขเมื่อลูกปืนล้อได้รับความเสียหายและหลวม คือ ใส่จาระบีเพื่อเพิ่มความหล่อลื่น เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม แต่ถ้าช่างหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมองว่าไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีนี้ได้ เนื่องจากลูกปืนล้อแตก ต้องทำการเปลี่ยนใหม่อย่างเดียวเท่านั้น

5. เปลี่ยนยางใหม่ ถ้าความผิดปกติของอาการพวงมาลัยรถสั่น มีสาเหตุมาจากยางรถยนต์เสื่อมสภาพ หรือเสียรูปทรง การเปลี่ยนยางใหม่ถือเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

6. ตรวจเช็กช่วงล่าง ไม่ว่ารถยนต์ของคุณจะเกิดอาการพวงมาลัยสั่นแค่ไหน สิ่งที่ควรทำคือการเข้าศูนย์บริการ และตรวจเช็กช่วงล่าง เพื่อดูว่ามีชิ้นส่วนไหนหลวมหรือไม่ เพื่อทำการแก้ไขให้กลับมาเข้าที่และแน่นหนาโดยด่วน

7. ปรับเพลาขับให้สมดุล หากพวงมาลัยสั่นเบา ๆ จนรู้สึกได้ ให้ทำการปรับเพลาขับให้สมดุล เพื่อความเสถียรในการขับรถ

8. แก้ไขหรือเปลี่ยนล้อแม็กใหม่ กรณีที่ล้อแม็กผิดรูป แต่เสียหายไม่มาก แนะนำให้นำรถไปใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญแก้ไข ด้วยการใช้ความร้อนสูงเคาะ และนำไปกลึงให้เข้ารูป การแก้ไขด้วยวิธีนี้ค่าใช้จ่ายจะไม่สูงมาก แต่ถ้าล้อแม็กเสียหายนัก ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่แน่นอนว่าตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

รับมือยังไง เมื่อพวงมาลัยสั่นขณะขับรถ ?

หากในตอนที่กำลังขับขี่รถอยู่นั้น ดันเกิดอาการพวงมาลัยสั่นขึ้นมา วิธีที่ดีและปลอดภัยมากที่สุดคือการประคองรถเข้าข้างทาง ไม่ควรฝืนขับต่อ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ลดความเร็ว : เมื่อเกิดอาการพวงมาลัยรถสั่น ควรลดความเร็วลงทันที และเช็กว่าอาการสั่นดังกล่าวหายไปหรือม่ พร้อมกับคอยสังเกตว่าช่วงความเร็วไหนที่ทำให้รถสั่น

  2. เปิดไฟฉุกเฉิน : หากอาการสั่นไม่ได้หายไปไม่ว่าจะขับเร็วหรือขับช้าก็ตาม ให้เปิดไฟฉุกเฉินเพื่อเตือนเพื่อนร่วมทางทันที

  3. ประคองรถเข้าข้างทาง : จากนั้นให้ประคองรถเข้าข้างทางด้วยความเร็วที่ค่อย ๆ ลดลง และควรจอดให้ชิดกับขอบถนนฝั่งซ้ายมากที่สุด พร้อมกับเปิดไฟฉุกเฉินตลอดเวลา

  4. ตรวจเช็กสภาพล้อกับยาง :ตรวจเช็กสภาพล้อและยางทั้งหมด ว่ามีการฉีกขาดหรือเกิดความเสียหายใด ๆ หรือไม่ เพื่อจะได้แจ้งอาการเมื่อนำรถเข้าซ่อมได้อย่างถูกต้อง

  5. โทรหาช่าง หรือบริษัทประกัน : แต่ถ้าไม่รู้ว่าพวงมาลัยสั่น เกิดจากสาเหตุอะไร หลังจากตรวจเช็กทุกอย่างดีแล้วให้โทรหาช่าง หรือบริษัทประกันภัยรถยนต์เพื่อขอความช่วยเหลือ ไม่ควรฝืนขับต่อเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้

ป้องกันรถพวงมาลัยสั่นได้ไหม มีวิธีไหนบ้าง ?

หากไม่อยากเผชิญหน้ากับเหตุการณ์รถพวงมาลัยสั่น จนเกิดอุบัติเหตุตามมา วิธีป้องกันที่ดีที่สุด และเริ่มต้นได้ง่าย ๆ คือการใส่ใจดูแล และนำรถยนต์ของคุณเข้าเช็คตามระยะที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าหากมีความผิดปกติใด ๆ กับชิ้นส่วนรถยนต์ จะได้ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนเกิดปัญหาตามมา

ในส่วนของการ “ป้องกันด้านการขับขี่” เพื่อลดเหตุการณ์พวงมาลัยรถสั่น ควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง และใส่ใจเรื่องยางรถยนต์เป็นพิเศษ เมื่อต้องขับรถในเส้นทางที่พื้นผิวถนนไม่เรียบ ขรุขระ หรือเป็นหลุม เป็นบ่อ ให้ลดระดับความเร็วลง เพราะถ้าหากขับรถตกหลุมหรือกระแทกอย่างรุนแรง จะทำให้ยางบวม หน้ายางขรุขระ จนทำให้เกิดอาการพวงมาลัยสั่น และความเสียหายอื่น ๆ ที่อาจตามมาไม่รู้จบ


ติดต่อโตโยต้าสุราษฎร์ธานี

โทร : 077-284919
Line Official : @toyotasuratthani
Page : https://www.facebook.com/ToyotaSuratthani.th